จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม
วันที่ 13 ม.ค.64 ที่ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายยุษฐิระ บัณฑุกุล ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชุมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยมีผู้บริหารและผู้แทนจากสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมนุมสหกรณ์โคนมภาคใต้และภาคตะวันตก สำนักงาน อ.ส.ค.ภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางการกระจายนมพาสเจอไรซ์บรรจุซองให้สถานศึกษาต่างๆ นำไปบริหารจัดการแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนในระหว่างที่กระทรวงศึกษาธิการ มีคำสั่งให้ปิดทำการเรียนการสอนสถานศึกษาในสังกัดพื้นที่ 28 จังหวัดควบคุมสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 4-31 ม.ค.64 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยปัญหาดังกล่าวถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะหลังจากวันที่ 15 ม.ค.นี้ ทางสำนักงาน อ.ส.ค.จะไม่สามารถรับน้ำนมดิบวันละ 40 ตันจาก 6 สหกรณ์โคนมใน จ.ประจวบฯ และ จ.เพชรบุรี เข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นนม ยู.เอช.ที.ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางที่เป็นไปได้ในการที่แต่ละโรงเรียนจะรับนมพาสเจอไรซ์ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาได้ไม่นานไปบริหารจัดการแจกจ่ายให้แก่เด็กนักเรียนเพื่อระบายสต็อกน้ำนมดิบสำหรับผลิตเป็นนมพาสเจอร์ไรซ์ออกไปให้ได้มากที่สุด โดยที่ประชุมเห็นควรมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษาแต่ละโรงเรียนไปกำหนดแนวทางร่วมกันในการหารือร่วมกับผู้ปกครองของเด็กแต่ละคนว่าจะสามารถมารับนมพาสเจอร์ไรซ์ได้จำนวนเท่าใดในแต่ละสัปดาห์โดยอาจจะใช้แนวทางการบริหารจัดการร่วมกับการให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนมารับใบงานจากครูซึ่งดำเนินการอยู่แล้วในช่วงนี้ที่ปิดโรงเรียน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมจากปัญหาน้ำนมดิบล้นระบบได้ในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังไม่คลี่คลาย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณจัดซื้อตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีมติผ่อนปรนให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีจำนวน 126 แห่งสามารถเปิดดำเนินการได้ภายใต้ข้อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมได้ระดับหนึ่ง เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้ใช้งบประมาณตามโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน จัดซื้อนมพาสเจอไรซ์เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียนต่อไป
https://pvlo-pkk.dld.go.th/webnew/index.php/en/news-menu/livestock-news-menu?start=90#sigFreeIdbceec2a79b
ที่มาของข้อมูล : สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์