ถาม : สีของป้ายอนุญาตขายอาหารสัตว์(สีแดง-สีน้ำเงิน) หมายถึงอะไร
ตอบ : สีน้ำเงิน คือ ผู้ขายส่ง และขายปลีก
       สีแดง คือ ขายปลีก

ถาม : ใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ หมดอายุเมื่อไร
ตอบ : อายุของใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ มีกำหนดให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ออกใบอนุญาต (31 ธันวาคม)

 

ถาม : ใบอนุญาตค้าสัตว์/ซากสัตว์ หมดอายุเมื่อไร
ตอบ : อายุของใบอนุญาตค้าสัตว์/ซากสัตว์ มีกำหนดให้ใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินแห่งปีที่ออกใบอนุญาต (31 ธันวาคม)

 

ถาม : โรคไข้หวัดนกคืออะไร
ตอบ : โรคไข้หวัดนกเกิดจากเชื้อไวรัส Influenza type A หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ จัดอยู่ในตระกูล Orthomyxoviridae ซึ่งเป็น RNA Virus ชนิดมีเปลือกหุ้ม โดยมีแอนติเจนที่ผิวที่สำคัญ ได้แก่ Hemagglutinin (H) มี 16 ชนิด และ Neuraminidase (N) 9 ชนิด เชื้อไวรัสสามารถเปลี่ยนแปลงแอนติเจนได้ง่าย โดยการเปลี่ยนแปลงแอนติเจนเพียงเล็กน้อย (Antigenic drift) หรือมีการเปลี่ยนแปลงยีนในกรณีที่เซลล์มีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิดที่แตกต่างกัน กลายเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (Antigenic shift) ขึ้นมาได้และเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดทั่วโลก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือแบบรุนแรงมาก (Highly pathogenic avian influenza: HPAI) และแบบรุนแรงน้อย (Low pathogenic avian influenza: LPAI)

 

ถาม : สัตว์ชนิดใดที่สามารถติดโรคไข้หวัดนก
ตอบ : ไก่ เป็ด ห่าน ไก่งวง ไก่ต๊อก นกกระทา ไก่ฟ้า นกพิราบ นกสวยงาม ตลอดจนนกป่าชนิดอื่นๆ และสุกรสามารถติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกนี้ได้ ทั้งนี้สัตว์เหล่านี้จะแสดงอาการป่วยให้เห็นหรือไม่ขึ้นอยู่กับชนิดสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือชนิดของเชื้อไวรัสว่าเป็นแบบใด

 

ถาม : หากพบสัตว์แสดงอาการป่วย หรือตาย ควรทำอย่างไร
ตอบ : แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้ทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการควบคุมโรค และไม่ควรเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย หรือซากสัตว์ไปที่อื่น

ถาม : สัตว์ที่ป่วยหรือตาย นำไปบริโภคได้หรือไม่
ตอบ : ไม่ควรบริโภค เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค และทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคไปยังพื้นที่อื่นๆได้

 

ถาม : โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้ออะไร
ตอบ : เชื้อไวรัส

ถาม : โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดเชื้อในระบบใดของร่างกาย
ตอบ : ระบบประสาท โดยเมื่อเชื้อโรคเข้าถึงสมองแล้วจะแพร่กระจายไปตามเส้นประสาทเข้าสู่เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ

ถาม : สัตว์ชนิดใดที่สามารถนำโรคพิษสุนัขบ้าได้
ตอบ : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด

ถาม : ส่วนใดของร่างกายที่ต้องระวังมากที่สุดหากถูกสุนัขกัด
ตอบ : สำคัญทุกส่วน แต่ส่วนที่เชื้อจะเข้าไปได้ง่าย คือ ส่วนที่มีเส้นประสาทอยู่หนาแน่น แม้ว่าเพียงแผลเดียวก็มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า

ถาม : ระยะฟักตัวของเชื้อ rabies ในสุนัขและคน เท่ากันหรือไม่
ตอบ : ไม่เท่ากัน ระยะฟักตัวของโรคในคนประมาณ 2-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 7 วัน หรือเกิน 1 ปี (จากรายงานการสอบสวนโรคของสำนักระบาดวิทยา ปี 2554 พบผู้เสียชีวิตมีระยะฟักตัวของโรคนาน 8 ปี) ส่วนระยะฟักตัวของโรคในสุนัขและแมวประมาณ 3-8 สัปดาห์ อาจสั้นเพียง 2 สัปดาห์ถึง 6 เดือน

ถาม : ในระยะฟักตัว (Incubation Period) สุนัขและแมวสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่
ตอบ : สุนัขและแมวจะแพร่เชื้อโรคได้ 1-6 วันก่อนมีอาการและหลังมีอาการจนถึงตาย

ถาม : ถ้าหญิงมีครรภ์ได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะสามารถถ่ายทอดไปยังทารกได้หรือไม่
ตอบ : ข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่พบการแพร่เชื้อจากมารดาสู่ทารก

ถาม : ถ้าสุนัขมีอาการผิดปกติหรือตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรนำส่วนใดของสุนัขไปพิสูจน์
ตอบ : หัวสุนัข

ถาม : ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัคซีนประเภทใดในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในคน
ตอบ : วัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยงและวัคซีนไข่เป็ดฟักบริสุทธิ์

ถาม : การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดที่ทำจากเซลล์เพราะเลี้ยงมีอาการแพ้หรือไม่
ตอบ : ข้อมูลที่พบในปัจจุบันยังไม่พบการแพ้อย่างรุนแรง อาการแพ้พบได้น้อยมาก เช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดเมื่อยตามตัว คัน แดงบริเวณที่ฉีด เป็นต้น

ถาม : การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้ากับแบบหลังสัมผัสโรค ต่างกันหรือไม่
ตอบ : ไม่ต่างกัน เป็นวัคซีนชนิดเดียวกัน

ถาม : หากถูกสัตว์กัดจะต้องกักขังเพื่อเฝ้าดูอาการกี่วัน
ตอบ : 10 วัน

ถาม : แผนที่ถูกสุนัขหรือแมวกัดเป็นรวยเขี้ยวหรือฉีกขาด ควรกินยาปฏิชีวนะขนานใดเหมาะสมที่สุด
ตอบ : ให้กินยาปฏิชีวนะ Ampicillin

ถาม : วิธีทำความสะอาดแผลโดยเร็วที่สุดภายหลังสัมผัสโรค สามารถทำได้อย่างไร
ตอบ : ล้างแผนด้วยน้ำฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ล้างสบู่ออกให้หมด ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ดี

ถาม : ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในบาดแผลที่ถูกสัตว์กัดได้แก่อะไร
ตอบ : ตำแหน่งของบาดแผล ชนิดของบาดแผล ระยะเวลาที่มาทำการรักษาหลังถูกกัด และสภาวะของผู้ป่วย เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

ถาม : ในบ้านเรามีกฎหมายหรือบทลงโทษสำหรับผู้เลี้ยงสุนัขที่ไม่ยอมนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
ตอบ : มี เป็นบทลงโทษตาม พรบ. โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ใดมีสุนัขไว้ในครอบครองต้องนำไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรก เมื่อสุนัขอายุ 2-4 เดือน หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท

 


ถาม : คนถูกสุนัขกัดสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากเจ้าของสุนัขได้หรือไม่
ตอบ : ได้ การเรียกร้องค่าเสียหายสามารถทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดไว้ในมาตราที่ 433 ว่า ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์นั้นเจ้าของหรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรับรักษาไว้แทนเจ้าของจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายเสียหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังถึงเพียงนั้น ทั้งนี้เจ้าของยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย

ถาม : ถ้าหากว่าในหมู่บ้านของเรามีสุนัขที่ไปกัดผู้อื่นและเจ้าของไม่ยอมรับผิดชอบ ทั้งนำสุนัขของตนไปซ่อน เราควรจะทำอย่างไร
ตอบ : ขั้นแรกต้องพูดคุยประนีประนอมทำความตกลงก่อน พร้อมทั้งอธิบายให้เจ้าของสุนัขเฝ้าดูอาการสุนัข 10 วัน ให้แน่ใจว่าสุนัขตัวนั้นไม่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า และร่วมกันแก้ไขปัญหาไม่ให้มีเหตุการณ์สุนัขตัวเดิมกัดคนอีก หากตกลงกันไม่ได้ค่อยแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

ถาม : สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าต้องมีอาการดุร้ายเท่านั้นใช่หรือไม่
ตอบ : ไม่ใช่ สุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้านอกจากมีอาการดุร้ายแล้ว ยังมีอาการแบบซึมอีกด้วย

ถาม : การเอาสมุนไพรพอกบริเวณแผลที่ถูกสุนัขกัด ช่วยป้องกันแผลจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่
ตอบ : ไม่ได้ เพราะสมุนไพรไม่ช่วยป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต้องล้างแผลให้สะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อแล้วไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

ถาม : เราจะวิเคราะห์พฤติกรรมสุนัขเพื่อป้องกันไม่ให้ไปทำร้ายผู้อื่นได้อย่างไร
ตอบ : พฤติกรรมสุนัขไม่สามารถวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจน เพียงแต่สังเกตง่ายๆ โดยดูจากปฏิกิริยาของสุนัขต่อผู้อื่นที่เข้าใกล้หรือเข้ามาในอาณาเขต หากประเมินดูแล้วสุนัขดุร้ายควรใส่กรงหรือนำไปไว้ในที่ลับตา และเมื่อพาสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้านควรใส่สายจูงทุกครั้งพร้อมสวมตะกร้อครอบปากด้วย

ถาม : กรณีใดที่จะพิจารณาว่าสัตว์นั้นมีภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า
ตอบ : กรณีที่สัตว์เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีแรก 2 ครั้ง และต่อมาฉีดประจำทุกปี ครั้งหลังสุดไม่เกิน 1 ปี ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้า ถ้ามีใบรับรองการฉีดวัคซีนด้วยจะดีมาก

ถาม : การนำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไปฉีดสุนัขที่บ้านเอง จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่
ตอบ : ขึ้นกับการเก็บรักษาวัคซีนหากเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม (2-8 °C) ตั้งแต่ออกจากร้านที่ซื้อเก็บวัคซีนไว้ที่บ้าน จนถึงเวลาที่นำไปฉีด และฉีดด้วยวิธีที่ถูกต้อง จึงจะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

ถาม : หากถูกสัตว์จรจัดหรือไม่มีเจ้าของกัด สัตว์ตัวนั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่
ตอบ : ให้สงสัยไว้ก่อน ถ้าสัตว์ที่กัดเป็นสัตว์จรจัด สัตว์ป่า ไม่มีเจ้าของ กัดแล้วหนีหายไป หรือผู้ถูกกัดจำสัตว์ที่กัดไม่ได้ต้องถือเสมือนว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า

ถาม : หากถูกสุนัขเลียแผลไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าใช่หรือไม่
ตอบ : ไม่ใช่ หากถูกสุนัขเลียแผลต้องถือเสมือนว่าสุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เพราะเชื้อสามารถออกมากับน้ำลายเข้าสู่บาดแผลได้โดยตรง จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรค ถ้าไม่มีบาดแผลใดๆ เชื้อก็ไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ ไม่ต้องฉีดวัคซีน

ถาม : โรคพิษสุนัขบ้าเกิดเฉพาะในฤดูร้อนใช่หรือ
ตอบ : ไม่ใช่ โรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้ทุกฤดู

ถาม : ลูกสุนัขไม่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าใช่หรือไม่
ตอบ : ไม่ใช่ จากรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าทุกปีพบว่า ผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่ถูกลูกสุนัขอายุ 2-6 เดือนกัด ซึ่งเกิดจากแม่สุนัขที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือลูกสุนัขเคยถูกสุนัขบ้ากัด

ถาม : ปัญหาการตรวจหัวสุนัขที่พบ คือ ไม่มีศูนย์รับตรวจอยู่ในระยะใกล้ที่สามารถส่งตรวจได้สะดวก หน่วยงานรัฐไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งตรวจ และประชาชนไม่นำสุนัขไปส่งตรวจเพราะต้องมีค่าใช้จ่ายจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
ตอบ : หากพื้นที่ใดมีปัญหาให้ประสานงานแจ้งหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในพื้นที่โดยตรงเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป